2410.Azumino
Rail Travel

ตบเท้า "เดิน" สำรวจนีงาตะ

ตบเท้า

นีงาตะ (新潟県) เป็นหนึ่งในจังหวัดของภูมิภาคชินเอ็ทสึ (信越地方 Shin’etsu-chihō) และมีเมืองนีงาตะ (新潟市) เป็นเมืองหลวงของจังหวัด ทั้งตัวเมืองและจังหวัดนั้นล้วนหันเข้าหาทะเลญี่ปุ่นทางตะวันตก และลำพังการเอ่ยชื่อ “นีงาตะ” จะทำให้หลายคนนึกถึงข้าวและสาเกได้ทีเดียว

เมืองนีงาตะเป็นหนึ่งในสถานที่ที่หลุดพ้นสายตาผมมาเป็นเวลานานมาก ต่อให้ผมจะเคยเดินทางไปญี่ปุ่นหลายครั้งก็ตาม แต่เมื่อก่อนหน้านี้ในปีนี้ ในที่สุดผมก็มีโอกาสไปที่เมืองนี้เสียที ผมแวะมาที่นี่แป๊บเดียวระหว่างกำลังเดินทางไปยังที่อื่นในญี่ปุ่น และผมตัดสินใจลองสำรวจเมืองด้วยวิธีที่ดีที่สุด นั่นคือการเดินเท้า

 

สำหรับบทความนี้ ผมจะมาแบ่งแพลนการเดินเที่ยวของผมรอบเมืองนีงาตะ เมืองที่ผมมารู้ว่าเปี่ยมไปด้วยประวัติศาสตร์และประเพณีสืบทอด แถมมีอาหารอร่อยและวิวชั้นเยี่ยม หลังคุณอ่านบทความนี้จบ ผมหวังว่าเมืองนี้จะได้อยู่ในลิสต์จุดท่องเที่ยวสำหรับการเดินทางด้วยรถไฟในญี่ปุ่นครั้งต่อไปของคุณ!

 

① จากสถานี Niigata สู่เขตบันได

  • สถานี Niigata → เดิน 10 – 15 นาที → เขตบันได

สถานี Niigata (เครดิตภาพ: JR East / Nazrul Buang)

 

วันของผมในเมืองนีงาตะเริ่มที่สถานี Niigata (新潟駅 Niigata-eki) สถานีรถไฟหลักในพื้นที่ญี่ปุ่นตะวันออก ที่นี่ยังเป็นสถานีปลายทางของ Jōetsu Shinkansen (上越新幹線) ซึ่งเชื่อมกับสถานี Tokyo (東京駅 Tōkyō-eki) โดยตรงด้วย

หนึ่งในสิ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับการมาเที่ยวเมืองนีงาตะก็คือการเดินทาง ต้องขอบคุณ Jōetsu Shinkansen ที่ทำให้การเดินทางจากโตเกียวนั้นง่ายมาก และการนั่งชินกันเซ็นขาเดียวจากโตเกียวมานีงาตะใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น ด้วยเวลาเดินทางแบบนั้น การเดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับมายังเมืองนีงาตะจึงเป็นไปได้ แม้จะเดินทางจากโตเกียวก็ตาม

 

เดินเท้าสำรวจเขตบันได (เครดิตภาพ: JR East / Nazrul Buang)

 

หลังเดินทางมาถึงสถานี Niigata ผมก็เริ่มเดินเท้าไปยังจุดหมายแรกของวันผ่านบันได (万代) ย่านการค้าหลักของเมือง ระหว่างที่เดินผ่าน ผมสังเกตได้ว่าโดยรวมแล้วนีงาตะเป็นเมืองที่เดินได้ง่ายมาก และการเดินเท้าผ่านระหว่างย่านต่างๆ นั้นเป็นอะไรที่เพลินมาก

 

Niigata Nippō Media Ship (เครดิตภาพ: JR East / Nazrul Buang)

 

อย่างหนึ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับการเดินสำรวจสถานที่ใหม่ๆ คือการที่ผมได้พบเจอสิ่งที่ไม่คาดคิด ซึ่งคงจะไม่ได้เจอถ้าผมเดินทางด้วยวิธีอื่นๆ นั่นเอง อย่างหนึ่งที่ผมค้นพบระหว่างเดินผ่านเขตบันไดก็คือ Niigata Nippō Media Ship (新潟日報メディアシップ) ตึกระฟ้าสูงสง่าที่ผมบังเอิญเจอ ณ ใจกลางเขตนี่เอง

อาคารที่สูง 105 ม. นี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2013 และนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปยังจุดชมวิวบนชั้นที่ 20 เพื่อชมวิวเมืองแบบ 360 องศาได้ เราสามารถชมวิวชั้นเยี่ยมของแม่น้ำชินาโนะ (信濃川 Shinano-gawa) และทะเลญี่ปุ่นได้ และถ้าอากาศแจ่มใสล่ะก็ จะมองเห็นเกาะซาโดะ (佐渡島 Sado-shima) ที่อยู่ไกลๆ ได้ด้วย

 

② สะพานบันได: สัญลักษณ์แห่งพลังการฟื้นฟูของนีงาตะ

  • เขตบันได → เดิน 5 นาที → สะพานบันได

ส่วนหนึ่งของสะพานบันไดเดิม (ซ้าย) และคำอธิบายเกี่ยวกับสะพานรุ่นที่สามในปัจจุบัน (ขวา) (เครดิตภาพ: JR East / Nazrul Buang)

 

หลังเดินจากสถานี Niigata มาได้ 15 นาที ผมก็มาค้นพบอีกสิ่งน่าสนใจ นั่นคือส่วนดั้งเดิมของสะพานบันได (萬代橋 Bandai-bashi) ที่เป็นส่วนหนึ่งของสะพานรุ่นแรกที่สร้างขึ้นในปี 1886

 

คุณรู้ไหม? ว่าสะพานบันไดถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งพลังการฟื้นฟูของนีงาตะ นั่นก็เพราะสะพานดังกล่าวถูกสร้างขึ้นใหม่ถึงสองครั้งด้วยกัน ครั้งแรกในปี 1908 หลังจากที่มันถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่ทำลายลง (รุ่นที่สอง) และครั้งที่สองในปี 1929 หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตปี 1923 (รุ่นที่สาม/ปัจจุบัน)

 

ผมคิดว่ามันน่าทึ่งมากที่ได้เห็นสะพานนี้ถูกสร้างขึ้นใหม่หลายครั้ง นับตั้งแต่ที่มันถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อกว่าร้อยปีก่อน และการที่มันได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งนีงาตะโดยก้าวผ่านการทดสอบแห่งกาลเวลาในเมืองที่เปลี่ยนไปทุกเมื่อเชื่อวัน

 

สะพานบันได (เครดิตภาพ: JR East / Nazrul Buang)

 

หลังจากค้นพบส่วนดั้งเดิมของสะพานบันไดและเดินต่อไม่กี่นาที ในที่สุดผมก็มาถึงสะพานรุ่นปัจจุบันที่เป็นรุ่นที่สามซึ่งพาดข้ามแม่น้ำชินาโนะ มันทำหน้านี้เป็นเส้นทางเชื่อมสำคัญของนีงาตะ โดยเชื่อมระหว่างเขตบันไดในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกับเขตฟุรุมาจิ (古町) บนฝั่งตะวันตก

 

มีเกร็ดน่าสนใจหลายอย่างเกี่ยวกับสะพานนี้ที่นักท่องเที่ยวควรรู้ อันดับแรก สะพานปัจจุบันถูกสร้างโดยใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งจะต่างกับสะพานรุ่นก่อนๆ ที่ใช้ไม้ในการสร้างซึ่งเสี่ยงต่อการเสียหายและทรุดโทรม ด้วยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กของมันนี่เองที่ทำให้สะพานรอดพ้นจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในปี 1964 ที่ทำลายพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองไปได้

 

สะพานบันได (สะพานที่สองจากล่างสุด) และแม่น้ำชินาโนะที่ไหลผ่านเบื้องล่าง (เครดิตภาพ: 新潟県観光協会)

 

พูดถึงเกร็ดน่ารู้อีกอย่างเกี่ยวกับสะพานบันได คุณรู้ไหม? ว่าสะพานรุ่นแรกนั้นมีความยาวกว่ารุ่นที่สองและสามมากทีเดียว ตอนที่สร้างเป็นครั้งแรก ตัวสะพานมีความยาวถึง 782 ม. แต่ในปี 1922 แม่น้ำชินาโนะมีการเปลี่ยนแนวเส้นทางใหม่หลังจากที่ทางผันน้ำเสร็จสมบูรณ์

 

ด้วยเหตุนี้ ความกว้างของแม่น้ำโดยเฉพาะในช่วงที่สะพานตั้งอยู่จึงแคบลง ดังนั้นสะพานรุ่นที่สองจึงถูกสร้างใหม่ด้วยความยาว 270 ม. แทน และเมื่อสะพานถูกสร้างขึ้นอีกครั้งในปี 1929 ความยาวล่าสุดจึงกลายเป็น 306.9 ม. แทน

 

สะพานบันได (萬代橋)
ที่อยู่: 2-4 Bandai, Chuo, Niigata 950-0088
การเดินทาง: เดิน 20 นาทีจากสถานี Niigata (新潟駅)

 

Toki Messe วิวนีงาตะแบบ Bird’s eye view

  • สะพานบันได → เดิน 12 นาที → Toki Messe

เดินไปยัง Toki Messe (เครดิตภาพ: JR East / Nazrul Buang)

 

หลังแวะเยี่ยมชมสะพานบันไดแล้ว จุดหมายต่อไปของผมคือที่ Toki Messe (朱鷺メッセ) ที่ตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำชินาโนะ มันถูกตั้งชื่อตามนกโทกิ (朱鷺 นกช้อนหอยหงอน) นกประจำจังหวัดนีงาตะอย่างเป็นทางการ และที่แห่งนี้รวมทั้ง Niigata Convention Center, Niigata Bandaijima Art Museum และสถานอำนวยความสะดวกอีกมากมายไว้ด้วยกัน

 

แต่ที่สำคัญ Toki Messe มีจุดเด่นคืออาคาร Bandaijima อาคารระฟ้าที่นอกจากจะรวมออฟฟิศและโรงแรมหรูไว้ ณ ชั้นบนๆ แล้ว ยังมีจุดชมวิว Befco Bakauke Observation Deck (Befcoばかうけ展望室 Befco Bakauke Tenbō-shitsu) ที่ให้วิวชั้นเลิศของเมืองนีงาตะอีกด้วย

 

โถงโล่งของ Toki Messe (เครดิตภาพ: JR East / Nazrul Buang)

 

ผมเห็นอาคารระฟ้าของ Toki Messe มาแล้วจากบนสะพานบันได และผมใช้เวลาราว 12 นาทีเพื่อเดินมาที่นี่ นี่เป็นเกร็ดที่ผมรู้มาระหว่างเดินจากสะพานมายัง Toki Messe นั่นคือห้ามพลาด Bandai Terrace Hajimari Hiroba (万代テラス ハジマリヒロバ) ทีเดียวเชียว เพราะมันเป็นพื้นที่เปิดโล่งสวยงามที่คุณจะได้เพลิดเพลินไปกับวิวของแม่น้ำและสะพานบันได แถมบางครั้งก็มีอีเวนต์พิเศษจัดที่นั่นด้วย

 

วิวจากบนระเบียงชมวิวที่หันหน้าเข้าหาเขตฟุรุมาจิ (เครดิตภาพ: JR East / Nazrul Buang)

 

เมื่อมาถึงที่อาคาร Bandaijima ผมขึ้นลิฟต์ไปยังระเบียงชมวิวบนชั้น 31 และได้ชมหนึ่งในวิวเมืองที่น่าทึ่งที่สุดที่ผมเคยเห็นมา ที่ความสูง 125 ม. ระเบียงชมนี้เป็นจุดชมวิวที่สูงที่สุดในทั่วทั้งพื้นที่ฝั่งทะเลญี่ปุ่น และเป็นที่ที่นักท่องเที่ยวจะได้ชมวิว 360 องศาของทั้งเมืองนีงาตะแบบเต็มตา ที่เยี่ยมสุดๆ ไปเลยก็คือที่นี่เปิดให้คนทั่วไปเข้าได้แถมฟรีด้วย!

 

Sado Kisen Terminal ที่เห็นได้จากระเบียงชมวิว (เครดิตภาพ: JR East / Nazrul Buang)

 

ผมค่อนข้างทึ่งไปกับวิวจากบนระเบียงชมวิวทีเดียว เพราะผมไม่ได้คาดคิดว่าตัวเองจะเพลิดเพลินไปกับอะไรแบบนี้ โดยทางฝั่งตะวันตกผมเห็นทะเลญี่ปุ่นที่อยู่ติดกับเมือง และแม่น้ำชินาโนะอันยิ่งใหญ่ที่ไหลผ่านไป ส่วนทางฝั่งเหนือ ผมเห็น Sado Kisen Terminal ที่นักท่องเที่ยวสามารถไปขึ้นเรือเฟอร์รี่เพื่อเดินทางไปยังเกาะซาโดะได้ด้วย

 

วิวฝั่งตะวันออกจากระเบียงชมวิว โดยมีเทือกเขาโกะสุเป็นฉากหลัง (เครดิตภาพ: JR East / Nazrul Buang)

 

คำแนะนำจากผมแด่นักท่องเที่ยวที่จะมายังระเบียงชมวิวนี้คือ ค่อยๆ ใช้เวลาชมวิวทุกด้านเพื่อให้เพลิดเพลินไปกับวิวเมืองนีงาตะได้อย่างเต็มที่ นั่นรวมถึงวิวฝั่งตะวันออกที่คุณจะได้เห็นพื้นที่ฝั่งตะวันออกของเมือง และถ้าสภาพอากาศเป็นใจก็จะได้เห็นเทือกเขาโกะสุ (五頭連峰 Gozu-renpō)  อยู่ไกลๆ ด้วย

 

Toki Messe (朱鷺メッセ)
ที่อยู่: 6-1 Bandaijima, Chuo-ku, Niigata-shi, Niigata 950-0078
การเดินทาง: เดิน 20 นาทีจากสถานี Niigata (新潟駅)
เวลาทำการ (ระเบียงชมวิว): 8:00 – 22:00 น. ทุกวัน (เปิดให้เข้ารอบสุดท้าย 21:30 น. เวลาเปิดทำการอาจเปลี่ยนแปลงในวันที่มีงานกิจกรรมพิเศษ)
ค่าเข้า: ไม่มี

 

④ ฟุรุมาจิ: ย่านประวัติศาสตร์ของนีงาตะ

  • Toki Messe → เดิน 30 นาที → ฟุรุมาจิ

สะพานริวโตะโอฮาชิ (สะพานแรกจากด้านล่าง) (เครดิตภาพ: photoAC)

 

หลังเพลินไปกับวิวอันยอดเยี่ยมจากบนระเบียงชมวิวเรียบร้อย ก็ถึงเวลาที่ผมจะไปยังจุดหมายต่อไป นั่นคือฟุรุมาจิ เขตนี้ตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำชินาโนะ ดังนั้นผมจึงต้องข้ามแม่น้ำเพื่อไปยังที่นั่น

 

ที่ผมรับรู้มาด้วยตัวเองก็คือ เมืองนีงาตะมีสะพานหลายแห่งมากที่เชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือสะพานบันได โดยจาก Toki Messe วิธีหนึ่งที่ผมจะข้ามไปยังอีกฝั่งของเมืองได้ก็คือการข้ามสะพานริวโตะโอฮาชิ (柳都大橋 Ryūto-Ōhashi) ที่เดินไปจาก Convention Centre ได้ใน 5 นาที

 

เกย์กิ ณ ฟุรุมาจ (เครดิตภาพ: 新潟県観光協会)

 

ด้วยชื่อที่แปลได้ว่า “เมืองเก่า” ฟุรุมาจิถือเป็นเขตที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองนีงาตะ ในช่วงยุคเอโดะและเมจิ (1603–1867, 1868–1912) นีงาตะเฟื่องฟูในฐานะเมืองท่า โดยฟุรุมาจิกลายเป็นย่านบันเทิงที่ขึ้นชื่อเรื่องชีวิตยามค่ำคืนและความแพร่หลายของเกย์กิ (芸妓) ที่คอยให้ความบันเทิงแก่ลูกค้าด้วยบทเพลงท้องถิ่นและการแสดงต่างๆ

 

ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมในเขตฟุรุมาจิ (เครดิตภาพ: JR East / Nazrul Buang)

 

ฟุรุมาจิเป็นหนึ่งในสองย่านการค้าหลักในนีงาตะ และมันทอดตัวยาวจากถนนฮนโจโดริ (本町通) ทางตอนเหนือไปจนถึงสวนฮาคุซันทางตอนใต้ เขตนี้ยังคงรักษาบรรยากาศดั้งเดิมของมันไว้อยู่ โดยมีร้านอาหารดั้งเดิมญี่ปุ่น (料亭 ryōtei) และเรือนน้ำชา (茶屋 chaya) เกย์กิ เรียงรายอยู่ อีกทั้งว่ากันว่าในบรรดาพื้นที่ลักษณะนี้ ที่นี่ถือว่าใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งเทียบเคียงได้กับบรรดาเขตในเกียวโตและคานาซาว่า

 

เขตฟุรุมาจิในตอนกลางวัน (เครดิตภาพ: JR East / Nazrul Buang)

 

เมื่อผมมาที่ฟุรุมาจิ ผมสัมผัสได้ถึงบรรยากาศดั้งเดิมของเขตนี้ และนึกภาพดูว่าที่นี่จะมีหน้าตาอย่างไรในยุครุ่งเรืองของมัน ตอนที่ผมไปถึงนั้นบรรยากาศค่อนข้างเงียบ เนื่องจากมันยังเป็นตอนกลางวันอยู่ แต่ผมคิดว่าบรรยากาศคงจะมีชีวิตชีวาขึ้นมากในตอนกลางคืน มันเป็นที่ที่ผมจะมาอีกครั้งในตอนกลางคืนอย่างแน่นอน

 

⑤ บ้านพักตากอากาศนีงาตะไซโต จุดแวะหลบไปในอดีตอันเงียบสงบ

  • ฟุรุมาจิ → เดิน 10 – 15 นาที → บ้านพักตากอากาศนีงาตะไซโต

บ้านพักตากอากาศนีงาตะไซโต (เครดิตภาพ: JR East / Nazrul Buang)

 

ต่อไป ผมเดินทางไปยังที่อยู่อาศัยเก่าที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในมรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของนีงาตะ บ้านพักตากอากาศนีงาตะไซโต (旧齋藤家別邸 Kyū Saitо̄ke Bettei) เป็นบ้านพักตากอาการที่เดิมเป็นของตระกูลไซโต ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดของนีงาตะ ปัจจุบันตัวบ้านพักตากอากาศตั้งอยู่เงียบๆ ในชานเมือง และทุกวันนี้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมข้างในได้

 

สวนด้านในบ้านพักตากอากาศในฤดูใบไม้ร่วง (เครดิตภาพ: 旧齋藤家別邸)

 

บ้านพักตากอากาศไม่ได้มีชื่อเสียงแค่ในด้านประวัติความเป็นมาของมันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสถาปัตยกรรมดั้งเดิมและการจัดภูมิทัศน์ด้วย และที่นี่ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษในฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นช่วงที่สวนด้านในจะถูกปกคลุมด้วยแมกไม้ประจำฤดูกาลที่มีเฉดสีสันสดใสทั้งแดง ส้ม และเหลือง

โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่าบรรดาที่อยู่อาศัยเก่าเป็นที่ที่ให้เราได้ลองมองเห็นอดีตของที่นั้นๆ และบ้านพักตากอากาศนีงาตะไซโตก็ถือเป็นตัวอย่างชั้นเยี่ยม นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับอิทธิพลที่ตระกูลไซโตมีต่อนีงาตะในอดีตแล้ว พวกเขายังจะได้ดื่มด่ำไปกับความงามตามฤดูกาลชั้นเลิศของบริเวณบ้านพักตากอากาศอีกด้วย

บ้านพักตากอากาศยังตั้งอยู่ใกล้กับเขตฟุรุมาจิด้วย ดังนั้นถ้าคุณกำลังสำรวจย่านประวัติศาสตร์อยู่ล่ะก็ ผมแนะนำเป็นอย่างยิ่งให้คุณแวะมาที่นี่ด้วย

บ้านพักตากอากาศนีงาตะไซโต (旧齋藤家別邸)
ที่อยู่: 576 Nishi-Ohatacho, Chuo-ku, Niigata-shi, Niigata 951-8104
การเดินทาง: จากสถานี Niigata (新潟駅) นั่งรถ Niigata City Loop Bus มาลงที่ป้าย Hoppo Bunka Hakubutsukan Niigata Bunkanmae (北方文化博物館新潟分館前) เดินอีก 1 นาทีจะถึงบ้านพักตากอากาศ อีกวิธีหนึ่งคือจากสถานี Niigata ให้นั่งรถบัส C20, C21 หรือ C22 มาลงที่ป้าย Nishi Ohata (西大畑) จากตรงนั้นเดิน 6 นาทีจะถึงที่บ้านพักตากอากาศ
ค่าเข้า: ผู้ใหญ่ 300 เยน
เวลาทำการ: 9:30 – 17:00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)

สวนฮาคุซัน สวนกลางเมืองที่เขียวขจีของนีงาตะ

  • บ้านพักตากอากาศนีงาตะไซโต → เดิน 15 นาที → สวนฮาคุซัน

ทางเข้าสวนฮาคุซัน (เครดิตภาพ: JR East / Nazrul Buang)

 

หลังแวะสั้นๆ ที่บ้านพักตากอากาศนีงาตะไซโต ก็ถึงเวลาที่ผมจะมุ่งหน้าไปยังจุดหมายสุดท้ายของทริปหนึ่งวันในนีงาตะของผม นั่นคือสวนฮาคุซัน (白山公園) ที่ตั้งอยู่สุดตอนใต้ของเขตฟุรุมาจิ ในแง่ประวัติศาสตร์นั้น สวนนี้ถือเป็นหนึ่งในสวนแห่งแรกๆ ของญี่ปุ่นและเป็นสถานที่ที่เป็นที่รักในบรรดาคนท้องถิ่น เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบและความงามตามฤดูกาลของมัน

 

สระน้ำสวยงามของสวนฮาคุซันและพรรณไม้เขียวขจี (เครดิตภาพ: JR East / Nazrul Buang)

 

ผมมาถึงที่สวนหลังจากเดิน 15 นาทีจากบ้านพักตากอากาศนีงาตะไซโต และผมประหลาดใจปนดีใจที่เจอบรรรยากาศชวนผ่อนคลายของมัน มันเป็นสวนสไตล์ดัตช์สำหรับเดินเล่น ซึ่งหมายความว่าบรรดาดอกไม้และไม้พุ่มถูกปลูกและจัดวางให้อยู่ในพื้นที่ที่ถูกล้อมไว้ ทำให้สวนนี้ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นโอเอซิสที่ปริ่มไปด้วยพรรณไม้สดชื่นและหลบแยกออกมาจากชีวิตเมืองที่จอแจของนีงาตะ

 

สวนฮาคุซันยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าฮาคุซัน (白山神社 Hakusan-jinja) ศาลเจ้าที่มีประวัติเก่าแก่มากกว่า 1,000 ปี นักท่องเที่ยวพากันมาที่นี่เพื่อไหว้สักการะฮาคุซัน-ซามะ (白山様) เทพเจ้าที่ว่ากันว่าสถิตย์อยู่ในภูเขาฮาคุซัน โดยมักขอพรกันในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านสวัสดิภาพของครอบครัว ความสัมพันธ์ การคลอดบุตรโดยปลอดภัย และอีกมากมาย 

 

เอ็นคิคังที่สวนฮาคุซัน (เครดิตภาพ: Niigata Visitors & Convention Bureau)

 

อีกอาคารประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในสวนฮาคุซันก็คือเอ็นคิคัง (燕喜館) ที่เคยเป็นโรงพ่อค้าของตระกูลไซโต ตระกูลเดียวกันกับที่เป็นเจ้าของบ้านพักตากอากาศนีงาตะไซโต ส่วนหนึ่งของโรงนี้ถูกบริจาคให้กับเมืองนีงาตะในปี 1994 และหลังจากที่มันถูกย้ายไปยังสวนฮาคุซัน ห้องน้ำชาและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ก็ถูกเพิ่มเข้ามาในบริเวณอาคารด้วยเช่นกัน

 

นับตั้งแต่เปิดทำการใหม่ในปี 1997 อาคารนี้กลายเป็นพื้นที่ชุมชนที่นักท่องเที่ยวสามารถมาสัมผัสประสบการณ์พิธีชงชาและการจัดดอกไม้ได้ ต่อมาในปี 2004 มันก็ได้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่ได้รับการจดทะเบียนในญี่ปุ่น (Registered Cultural Property in Japan)

 

สวนฮาคุซัน (白山公園)
ที่อยู่: 1-2 Ichibanboridori-cho, Chuo-ku, Niigata-shi, Niigata 951-8132
การเดินทาง: จากสถานี Niigata นั่งรถ Niigata City Loop Bus 10 นาทีมาลงที่ป้าย Hakusan Park (白山公園前) โดยสวนจะอยู่ติดกับป้ายรถบัส อีกวิธีหนึ่งคือเดินจากสถานี Hakusan (白山駅) 20 นาที
ค่าเข้า: ไม่มี

 

เอ็นคิคัง (燕喜館)
ที่อยู่: 1-2 Ichibanboridori-cho, Chuo-ku, Niigata-shi, Niigata 951-8132
วันทำการ: ทุกวัน (ปิดทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน และในช่วงวันหยุดปีใหม่)
เวลาทำการ: 9:00 – 17:00 น.

 

แถม: เฮกิโซบะ เมนูเส้นพิเศษเฉพาะนีงาตะ

เฮกิโซบะของนีงาตะ (เครดิตภาพ: JR East / Nazrul Buang)

 

พอพูดถึงการสำรวจสถานที่ใหม่ๆ แล้ว ประสบการณ์ที่ได้คงไม่สมบูรณ์หากขาดการลองชิมของอร่อยท้องถิ่นเนอะ? นีงาตะถือเป็นแหล่งขุมทรัพย์ของอาหารอร่อย ยกตัวอย่างเช่นข้าวโคชิฮิคาริ (コシヒカリ) ที่เลอค่า และอาหารทะเลสดใหม่ส่งตรงจากทะเลญี่ปุ่น แต่อาหารจานหนึ่งที่ผมได้ลองและตกหลุมรักเลยก็คือโซบะชนิดหนึ่งที่มีเฉพาะนีงาตะเท่านั้น นั่นคือเฮกิโซบะ (へぎそば)

 

เมื่อผมลองชิมเป็นครั้งแรก ผมสังเกตถึงจุดต่างเล็กๆ ไม่กี่อย่างที่ทำให้มันแตกต่างจากเมนูโซบะอื่นๆ ของญี่ปุ่น นั่นคือรสสัมผัสที่เนียนและแน่นกว่า ซึ่งทำให้เคี้ยวมันและเข้ากันได้ดีกับเท็มปุระที่เป็นเครื่องเคียงด้วย นอกจากนี้ มันถูกเสิร์ฟมาในกล่องไม้ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า (へぎ hegi) ทำให้มันดูดีทีเดียว

 

เฮกิโซบะ (ซ้าย) และเท็มปุระ (ขวา) (เครดิตภาพ: JR East / Nazrul Buang)

 

เฮกิโซบะเป็นเมนูที่อร่อยได้ในหลายๆ ที่ในจังหวัดนีงาตะ รวมถึงเมืองนีงาตะด้วย และผมอร่อยกับมันได้จนหมดจริงๆ มันเป็นเมนูที่ง่ายและให้ความรู้สึกอบอุ่น และมันเป็นอะไรที่ผมคงไม่พลาดแน่นอนเมื่อมานีงาตะครั้งต่อไป

 

ปิดท้าย

ก่อนหน้านี้ นีงาตะเคยเป็นที่ที่ผมรู้จักผ่านสื่อเท่านั้น แต่หลังจากมาเดินเที่ยวหนึ่งวันรอบเมืองแล้ว ผมก็ได้รู้จักที่แห่งนี้มากขึ้น ด้วยวิวทะเลญี่ปุ่นที่สวยงาม บรรดาย่านที่ได้รับการอนุรักษ์ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และประเพณี รวมถึงอาหารรสเลิศแล้ว มันเป็นเมืองที่มีอะไรสำหรับทุกคนเสมอ และที่เยี่ยมที่สุดก็คือ มันเป็นที่ที่นั่งชินกันเซ็นไปถึงได้จากโตเกียว ทำให้มันเป็นที่ที่เดินทางไปได้ง่ายพอตัว

 

ถ้าคุณกำลังสงสัยว่าจะครั้งหน้าจะไปเที่ยวเช้าเย็นกลับที่ไหนดี ลองมาที่นีงาตะ สถานที่ที่วิวชวนตื่นตาและอาหารอร่อยๆ รอคุณอยู่!

 

JR EAST PASS (Nagano, Niigata area)

ตั๋ว JR EAST PASS (Nagano, Niigata area) และพื้นที่ที่ใช้งานได้ (เครดิตภาพ: JR East)

 

อยากไปเที่ยวเมืองนีงาตะและพื้นที่อื่นๆ ในแถบชินเอ็ทสึใช่ไหม? ขอแนะนำตั๋ว JR EAST PASS (Nagano, Niigata area) ตั๋ว Pass ราคาย่อมเยาที่ให้คุณนั่งรถไฟบนทางรถไฟของ JR East (รวมถึงชินกันเซ็น) ได้อย่างไม่จำกัดเที่ยวในพื้นที่ที่ครอบคลุมได้ตลอดระยะเวลา 5 วันติดต่อกัน ด้วยราคาเพียง 27,000 เยน มันมีราคามากกว่าตั๋วไปกลับระหว่างโตเกียวและนีงาตะ (~21,000 เยน) เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และถูกกว่าค่าตั๋วขากลับจากจุดที่ไกลที่สุดที่ตั๋ว Pass ครอบคลุม ซึ่งเป็นช่วงระหว่างโตเกียวและซากาตะที่เปลี่ยนรถ ณ นีงาตะ (~29,080 เยน) ด้วยความที่ใช้งานได้ 5 วันติดกันแบบไม่อั้น ตั๋วนี้จึงมีราคาคุ้มมากหากคุณนั่งรถไฟเยอะในช่วงเวลาดังกล่าว

อีกทั้งคุณยังสามารถจองที่นั่งบนรถไฟชินกันเซ็น รถด่วนพิเศษบางขบวน และรถไฟ Joyful Train บนช่องทางออนไลน์ล่วงหน้านานถึง 1 เดือนได้ฟรีที่นี่

ตั๋ว JR EAST PASS (Nagano, Niigata area) สามารถใช้กับประตูอัตโนมัติได้ และผู้ถือพาสปอร์ตต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นก็สามารถใช้ตั๋วนี้ได้ด้วย

 

เครดิตภาพปก: JR East / Nazrul Buang, illustAC

Translated by: conomi.co

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

Share this article:
TSC-Banner
2410.Azumino-Right